กระวาน สมุนไพรไทยช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย บำรุงกำลัง แก้พิษ

WM

ภาพจาก medthai

สมุนไพรไทยช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย กระวาน และจัดเป็นเครื่องเทศที่มีราคาแพง

กระวานไทย หรือ กระวาน (Amomum krevanh) ผลจะมีลักษณะค่อนข้างกลม ปลูกมากในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ประเทศอินโดนีเซีย หมู่เกาะอินเดียตะวันตก สำหรับประเทศไทยแหล่งผลิตสำคัญจะเก็บได้จากตามป่าบริเวณเขาสอยดาว ในจังหวัดจันทบุรี หรือที่เรียกว่า “กระวานจันทบุรี” ซึ่งเป็นกระวานที่มีคุณภาพดีและเป็นที่ต้องการของตลาด และยังมาจากแหล่งอื่น ๆ ทางภาคใต้อีก เช่น กระวานสงขลา กระวานสุราษฎร์ธานี แต่จะมีคุณภาพต่ำกว่ากระวานจันทบุรี[3]

กระวาน ชื่อสามัญ Best cardamom, Camphor, Clustered cardamom, Siam cardamom

กระวาน ชื่อวิทยาศาสตร์ Amomum verum Blackw. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Amomum krervanh Pierre ex Gagnep.) จัดอยู่ในวงศ์ขิง (ZINGIBERACEAE)[1],[2]

สมุนไพรกระวาน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ปล้าก้อ (ปัตตานี), กระวานขาว (ภาคกลาง, ภาคตะวันออก), มะอี้ (ภาคเหนือ), ข่าโคก ข่าโค่ม หมากเนิ้ง (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), กระวานไทย, กระวานดำ, กระวานแดง, กระวานจันทร์, กระวานโพธิสัตว์ เป็นต้น[1],[2]

กระวานจัดเป็นเครื่องเทศที่มีราคาแพง ที่ซื้อขายในประเทศไทยมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือ

กระวานเทศ หรือ กระวานแท้ (Elettaria cardamomum) ผลมีลักษณะแบนรี ซึ่งแตกต่างจากกระวานไทย กระวานเทศนี้จะปลูกมากในประเทศอินเดีย ศรีลังกา แทนซาเนีย และกัวเตมาลา[3]

WM
ภาพจาก medthai

ลักษณะของกระวาน

ต้นกระวาน จัดเป็นไม้ล้มลุกมีเหง้า มีความสูงประมาณ 2 เมตร โดยมีกาบใบหุ้มซ้อนกันทำให้ดูคล้ายลำต้น โดยต้นกระวานมักขึ้นในที่ร่มหรือใต้ร่มไม้ที่มีความชื้นสูง หรือในที่ที่มีฝนตกชุกและอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลอย่างน้อย 800 ฟุตขึ้นไป โดยมักจะพบขึ้นทั่วไปตามไหล่เขาในบริเวณป่าดงดิบ[1],[3]

ใบกระวาน ใบเป็นใบเดี่ยว ลักษณะของใบแคบและยาว เป็นรูปขอบขนาน มีความยาวประมาณ 15-25 เซนติเมตร ปลายใบแหลม[1]

ดอกกระวาน ออกดอกเป็นช่อ ช่อดอกออกมาจากเหง้า ชูขึ้นขึ้นมาเหนือพื้นดิน เรียงสลับซ้อนกันตลอดช่อ ในซอกใบประดับจะมีดอกประมาณ 1-3 ดอก ปลายกลีบเลี้ยงมีหยัก 3 หยัก กลีบดอกมีสีเหลือง เป็นหลอดแคบ เกสรตัวผู้เป็นแบบไม่สมบูรณ์เพศ แปรสภาพเป็นกลีบขนาดใหญ่สีขาว มีแถบสีเหลืองอยู่ตรงกลาง[1]

ผลกระวาน หรือ ลูกกระวาน ผลมีลักษณะค่อนข้างกลม ติดเป็นพวงราว 10-20 ผล ผลมีสีขาวนวล เปลือกผิวเกลี้ยง มองเห็นเป็นพู มี 3 พู ผลอ่อนมีขน ผิวเปลือกมีริ้วตามยาว เรียงตัวจากฐานไปสู่ยอด ผลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 10 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 6-15 มิลลิเมตร ทั้งหัวและท้ายผลมีจุก ผลจะร่วงไปเมื่อแก่ ผลแก่จะแตก มีเมล็ดอยู่ภายในจำนวนมาก แบ่งเป็น 3 กลุ่ม มีเมล็ดกลุ่มละประมาณ 12-18 เมล็ด

เมล็ดกระวาน เมล็ดอ่อนมีสีขาวและมีเยื่อหุ้ม เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีดำหรือสีน้ำตาลไหม้ โดยทั้งผลและเมล็ดจะมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว คล้ายกับกลิ่นของการบูร มีรสเผ็ดและเย็น[1],[2]

ส่วนที่นำมาใช้เป็นยาสมุนไพร ได้แก่ ราก หัว และหน่อ เปลือกต้น แก่น กระพี้ เมล็ด ผลแก่ที่มีอายุประมาณ 4-5 ปี โดยจะเก็บผลในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนมีนาคม [1]

สรรพคุณของกระวาน

  • ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย (ผลแก่, ใบ, เปลือก, เมล็ด)[1],[2]
  • ช่วยแก้ธาตุพิการ (เมล็ด)[1],[2] แก้ธาตุไม่ปกติ (ผลแก่)[2]
  • ช่วยบำรุงกำลัง (ผลแก่, ใบ)[1],[2]
  • ช่วยทำให้เจริญอาหาร (ผลแก่)[1],[2] แก้อาการเบื่ออาหาร (ผลแก่)[2]
  • ช่วยบำรุงโลหิตในร่างกาย (กระพี้)[1]
  • ช่วยขับโลหิต (ผลแก่)[1],[2] ช่วยฟอกโลหิต แก้โลหิตเน่าเสีย (ราก)[1] ช่วยรักษาโรคโลหิตเป็นพิษ (แก่น)[1]
  • ช่วยแก้เสมหะให้ปิดธาตุ (ราก)[1] แก้ลมเสมหะให้ปิดธาตุ (ผลแก่, ใบ)[1],[2]
  • ช่วยขับเสมหะ (ใบ, เปลือก, เมล็ด)[1],[2]
  • แก้อาการสะอึก (ผลแก่)[2]
  • ช่วยแก้อาการคลื่นไส้ อาเจียน (ผลแก่)[2]
  • ช่วยแก้ลม (ผล, ใบ, ราก)[1]
  • ช่วยแก้ลมในอกให้ปิดธาตุ (ผลแก่)[1],[2]
  • ช่วยแก้ลมสันนิบาต สันนิบาตลูกนก (ผลแก่, ใบ)[1],[2]
  • ช่วยแก้พิษร้าย (แก่น)[1]
  • ช่วยแก้อาการผอมเหลือง (เปลือก)[1]
  • ช่วยรักษาโรครำมะนาด (ผลแก่, ใบ, ราก)[1],[2]
  • ช่วยแก้ไข้ (เปลือก)[1]
  • ช่วยแก้ไข้เพื่อลม (ใบ)[1]
  • ช่วยแก้ไข้อันเป็นอชินโรคและอชินธาตุ (เปลือก)[1]
  • ช่วยแก้ไข้อันง่วงเหงา (ใบ, เปลือก)[1]
  • แก้ไข้เซื่องซึม (ใบ)[1]
  • ช่วยแก้อาการปวดท้อง (เมล็ด)[2]
  • แก้ลมจุกเสียดแน่นเฟ้อ ท้องอืด ท้องเฟ้อ ด้วยการใช้ผลกระวานแก่จัดประมาณ 6-10 ผล นำมาตากแห้งแล้วบดเป็นผง ใช้รับประทานครั้งละ 1-3 ช้อนชา ต้มกับน้ำ 1 ถ้วยแก้ว แล้วเคี่ยวจนเหลือครึ่งถ้วยแก้ว และนำมาใช้รับประทานเพียงครั้งเดียว (ผลแก่, ใบ)[1],[2]
  • แก้ลมในลำไส้ (ผลแก่)[2] ช่วยขับผายลมในลำไส้ (เมล็ด, ใบ)[1],[2] มีฤทธิ์ในการขับลม (Carminative) ด้วยการใช้ผลกระวานแก่จัดประมาณ 6-10 ผล นำมาตากแห้งแล้วบดเป็นผง ใช้รับประทานครั้งละ 1-3 ช้อนชา แล้วต้มกับน้ำ 1 ถ้วยแก้ว แล้วเคี่ยวจนเหลือครึ่งถ้วยแก้ว และนำมาใช้รับประทานเพียงครั้งเดียว (ผลแก่)[1],[2]
  • ผลกระวานใช้ผสมกับสมุนไพรที่มีฤทธิ์เป็นยาถ่าย เช่น มะขามแขก เพื่อใช้บรรเทาอาการไซ้ท้องหรืออาการคลื่นไส้อาเจียน (ผลแก่[1], เมล็ด[2])
  • ช่วยแก้อุจจาระพิการ (เมล็ด)[1],[2]
  • ช่วยแก้อัมพาต (ผลแก่)[2]
  • ช่วยขับพยาธิในเนื้อให้ออกทางผิวหนัง (หัวและหน่อ)[1]
  • ช่วยรักษาโรคผิวหนัง (กระพี้, เปลือก)[1]

ผลแก่มีรสเผ็ดร้อนและมีกลิ่นหอม ประกอบไปด้วยน้ำมันหอมระเหย (Essential oil) 5-9% มีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญของเชื้อแบคทีเรียบางชนิด (ผลแก่)[1]

ใช้เป็นส่วนประกอบในพิกัดยาไทย ได้แก่ ตำรับยา “พิกัดตรีธาตุ” ซึ่งประกอบไปด้วย กระวาน ดอกจันทน์ และอบเชย เป็นตำรับยาที่มีสรรพคุณช่วยแก้ธาตุพิการ แก้ไข้ แก้ลม แก้เสมหะ และยังจัดอยู่ในตำรับยา “พิกัดตรีทุราวสา” อันประกอบไปด้วย ผลกระวาน ผลราชดัด ผลโหระพาเทศ ซึ่งเป็นตำรับยาที่มีสรรพคุณช่วยแก้ลม แก้เสมหะ แก้พิษตานซาง และช่วยบำรุงน้ำดี[2]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของกระวาน

  • มีฤทธิ์ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด โดยสารสกัดน้ำ-เอทานอลมีผลกระตุ้นการดูดกลับของกลูโคส และช่วยเสริมฤทธิ์ของอินซูลิน[2]
  • สารในกลุ่มเทอร์ปีนและ Diterpene peroxide ที่แยกบริสุทธิ์จากสารสกัดเฮกเซน มีฤทธิ์ช่วยยับยั้งเชื้อมาลาเรีย Plasmodium falciparum[2]
  • ช่วยลดการบีบตัวของลำไส้เล็ก โดยมีสารที่ออกฤทธิ์คือ Cineole[2]
  • น้ำมันหอมระเหยจากผลกระวานมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย Pseudomonas aeruginosa[2]
  • น้ำมันหอมระเหย หรือ Essential oil 5-9% ประกอบไปด้วย 1,8-cineol, ?-bisabolol, ?-curcumene, ?-pinene, ?-santalol, ?-terpineol, Bornyl acetate, Camphor 22.5%, Car-3-ene, Cineol, Cinnamaldehyde, Cis-laceol, (E)-nuciferol, Farnesol isomer, Limonene, Linalool, Myrcene, P-cymene, Safrole, Santalol, Terpinen-4-ol, Thujone, (Z)-?-trans- bergamotol[2]

ประโยชน์ของกระวาน

  1. เหง้าอ่อนของกระวานใช้รับประทานเป็นผักได้ ให้กลิ่นหอมและมีรสเผ็ดเล็กน้อย[1]
  2. ผลแก่ของกระวานนำมาตากแห้ง สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องเทศในการประกอบอาหารได้อย่างปลอดภัย[1],[2]
  3. เมล็ดมีกลิ่นหอม ใช้สำหรับแต่งกลิ่นขนมปัง ขนมเค้ก คุกกี้ และยังช่วยแต่งกลิ่นและดับกลิ่นคาวของอาหารประเภทเนื้อสัตว์ได้อีกด้วย[3]
  4. กระวานไทยสามารถนำมาใช้ทดแทนกระวานเทศได้[3]
  5. มีการนำผลกระวานมาแปรรูปทำเป็นน้ำมันหอมระเหย โดยการกลั่นด้วยไอน้ำ โดยน้ำมันกระวานสามารถนำไปแต่งกลิ่นเหล้า หรือเครื่องดื่มต่าง ๆ รวมไปถึงยังนำมาใช้ในอุตสาหกรรมน้ำหอมอีกด้วย[3]
  6. กระวานเป็นเครื่องเทศส่งออกของประเทศไทยที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่ประเทศปีละนับล้านบาท[3]

สมุนไพรไทย แพทย์แผนไทย สมุนไพรประจำบ้าน ที่คนไทยรู้จักกันดี สรรพคุณเป็นยา รักษาโรคได้ ควรมีติดไว้ประจำบ้าน พืชที่ใช้เป็นยารักษาโรค หรือ เสริมสุขภาพ ช่วยในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้เป็นอย่างดี การหาความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรกับชีวิตประจำวัน

สมุนไพรที่ได้จากส่วนของพืชโดยตรง (พืชวัตถุ) โดยส่วนต่างๆ ที่นำมานั้นมีสารที่สามารถใช้เป็นยาได้ ได้แก่ ใบ ดอก ผล เปลือกผล เมล็ด เปลือกเมล็ด รากหรือหัว ต้น แก่น กระพี้ เนื้อไม้ เปลือกไม้ สมุนไพรที่ได้จากอวัยวะของสัตว์ (สัตว์วัตถุ) ได้แก่ ตับ ดี นอ เขา เอ็น เลือด น้ำมัน มูล ฯลฯ เช่น ขี้ผึ้ง รังนก น้ำมันตับปลา สมุนไพรที่ได้จากแร่โดยธรรมชาติหรือสิ่งที่ประกอบขึ้นจากแร่ธาตุต่างๆ ตามกรรมวิธี (ธาตุวัตถุ) นำมาใช้เป็นยา  ติดตามได้ที่ doodido

ที่มา : medthai.com

  1. สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “กระวาน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th.
  2. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “กระวานไทย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com.
  3. สำนักงานเกษตร อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี.  “กระวาน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: soidao.chanthaburi.doae.go.th.