กระวานเทศ สมุนไพรเทศ ช่วยรักษาโรคกระเพาะอาหาร บำรุงหัวใจ

WM

ภาพจาก medthai

สรรพคุณและประโยชน์ของ สมุนไพร กระวานเทศ ช่วยรักษาโรคกระเพาะอาหาร กระจายโลหิต บำรุงหัวใจ

กระวานเทศ จัดเป็นสมุนไพรไม้ล้มลุก มีอายุยาวหลายปี มีเหง้าหรือหัวอยู่ใต้ดิน ลำต้นเทียมมีความสูงประมาณ 1.5-5 เมตร ส่วนของต้นเกิดมาจากการรวมตัวกันของกาบใบที่เจริญขึ้นมาเหนือดิน จนมีลักษณะเป็นกอ ในแต่ละก้านจะมีใบอยู่ประมาณ 10-20 ใบ ทุกส่วนของลำต้นมีกลิ่นหอม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการแยกกอ ซึ่งเป็นวิธีแบบไม่อาศัยเพศ และวิธีการเพาะกล้าจากเมล็ด มีการเพาะปลูกมากในประเทศอินเดีย ศรีลังกา แทนซาเนีย และกัวเตมาลา[1],[2],[3]

กระวานเทศ เป็นเครื่องเทศที่มีราคาสูงมาก มีราคาต่อหน่วยของน้ำหนักเป็นอันดับสามรองจากหญ้าฝรั่น (Saffron) และวานิลลา (Vanilla) ซึ่งในตลาดโลกมีการซื้อขายกระวานกันอยู่หลายชนิดจากหลาย ๆ ทวีป โดยชนิดที่มีคุณภาพดีที่สุด (แพงที่สุดด้วย) มีการซื้อขายกันมากที่สุดก็คือ กระวานเทศ (Cardamom) ซึ่งผลิตมาจากประเทศอินเดียและศรีลังกา ส่วนกระวานไทยนั้นจะมีคุณภาพรองลงมา แต่จะมีการนำมาใช้ทดแทนเมื่อกระวานเทศเกิดขาดแคลน หรือนำมาใช้ในอุตสาหกรรมที่ไม่ได้เน้นด้านคุณภาพมากนัก[3]

กระวาน หรือ กระวานเทศ ชื่อสามัญ Cardamom, True cardamom, Small cardamom

กระวานเทศ ชื่อวิทยาศาสตร์ Elettaria cardamomum (L.) Maton (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Amomum cardamomum L.) จัดอยู่ในวงศ์ขิง (ZINGIBERACEAE)[1],[2],[3]

สมุนไพรกระวานเทศ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กระวานแท้, กระวาน, กระวานขาว, ลูกเอล (Ela), ลูกเอน, ลูกเอ็น เป็นต้น[1] โดยมีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[2]

กระวานเทศ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่ กลุ่มพันธุ์ผลเล็ก (E. cardamum var. cardamum) ผลมีขนาดยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร ผลแห้งเป็นสีเหลือง นิยมปลูกกันส่วนมาก และกลุ่มพันธุ์ผลใหญ่ (E. cardamum var. major Thwaites) เป็นกระวานเทศป่าจากศรีลังกา ผลมีขนาดยาวประมาณ 2.5-5.5 เซนติเมตร ผลแห้งเป็นสีน้ำตาลเข้ม [3]

ใบกระวานเทศ มีใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกันเป็น 2 แถว ด้านหลังใบมีสีเขียวเข้มและเป็นมัน ส่วนท้องใบสีจะจางกว่า ลักษณะของใบเป็นรูปหอกแกมรูปแถบ[2],[3]

ดอกกระวานเทศ ช่อดอกออกจากเหง้าหรือบริเวณโคน มีความประมาณ 1-1.5 เมตร ทอดราบไปกับพื้นดิน ดอกมีสีขาวหรือสีเขียวอ่อน ส่วนลาเบลลัมเป็นสีขาวและประด้วยขีดสีม่วง[2]

ลูกกระวานเทศ หรือ ผลกระวานเทศ ผลมีลักษณะยาวรีเป็นรูปไข่ หัวท้ายแหลม ปลายผลจะงอนคล้ายกับจะงอยปากนก ผลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตรและยาวประมาณ 4 เซนติเมตร ผลแก่แห้งมีสีน้ำตาลเข้ม เมื่อนำมาตัดขวางภายในจะเห็นเป็น 3 ช่อง รอยตัดจะเป็นแบบสามเหลี่ยม มีกลิ่นเฉพาะตัว ผลเมื่อแก่จะแตกตามยาวออกเป็น 3 ส่วน ภายในผลมีเมล็ดมาก ในแต่ละผลจะมีเมล็ดอยู่ประมาณ 15-20 เมล็ด[1]

เมล็ดกระวานเทศ เมล็ดมีสีน้ำตาลอมดำอัดแก่นเป็นกลุ่มอยู่ภายในผล เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมแบน แข็ง มีขนาดประมาณ 5 มิลลิเมตร มีเยื่อหุ้มเมล็ด โดยเมล็ดนั้นจะมีกลิ่นหอมฉุนและให้รสเผ็ดร้อน[1]

WM
ภาพจาก medthai

สรรพคุณของกระวานเทศ

  • ช่วยบำรุงธาตุในร่างกายลักษณะกระวานเทศ (ผล)[1]
  • ในต่างประเทศมีการใช้กระวานเทศผสมเป็นตัวบำรุงหัวใจ (ผล)[1]
  • ช่วยกระจายโลหิต (ผล)[1]
  • ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ ปวดฟัน ปวดหู (ผล)[1]
  • ช่วยแก้อาการท้องเสีย (ผล)[1]
  • ช่วยขับลม แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และในต่างประเทศมีการใช้ผลกระวานผสมกับขิง ผงกานพลู และเทียนตากบ (ผล)[1]
  • ช่วยแก้อาการเกร็งของลำไส้ (ผล)[1]
  • ช่วยรักษาโรคกระเพาะอาหาร (ผล)[1]
  • ในประเทศอินเดียและจีน มีการใช้กระวานเป็นยารักษาอาการผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[1]
  • ช่วยแก้อาการผิดปกติของตับและคอ (ผล)[1]
  • ช่วยลดอาการอักเสบ (ผล)[1]
  • ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของกระวานเทศ
  • มีการทดลองให้หนูกินสารสกัดเอทานอลที่ได้จากเมล็ดกระวานเทศในขนาด 0.3 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เป็นระยะเวลา 7 วัน พบว่าเริ่มเกิดอาการพิษ ทำให้หนู (Mouse) มีน้ำหนักตัวที่ลดลง[1]
  • น้ำมันจากเมล็ด มีฤทธิ์ช่วยลดอาการเกร็งของลำไส้หนู โดยทำการทดลองด้วยวิธีการแยกลำไส้ของหนูออกมาทดสอบภายนอก[1]

การทดสอบฤทธิ์การยับยั้งการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร เมื่อเหนี่ยวนำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารของหนูด้วยเอทานอลพบว่า สารสกัดปิโตรเลียมอีเทอร์ (ขนาด 50-100 มก./กก.) สามารถช่วยลดการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ 50% ส่วนสารสกัดเมทานอล (ขนาด 500 มก./กก.) จะช่วยลดการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ 70% แต่ถ้าเหนี่ยวนำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารด้วยยาแอสไพริน จะพบว่าสารสกัดปิโตรเลียมอีเทอร์ (ขนาด 12.5 มก./กก.) จะช่วยลดการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ถึง 100% และถ้าหากให้ในขนาดที่มากกว่า 12.5 มก./กก. จะพบว่าการออกฤทธิ์นั้นดีกว่ายารักษาโรคกระเพาะอาหารมาตรฐานอย่างรานิทิดีน (Ranitidine) ที่ให้ในขนาด 50 มก./กก.[1]

ผลกระวานแห้งจะให้น้ำมันหอมระเหย (Essential oil) ประมาณ 3.5-7% ซึ่งน้ำมันหอมระเหยจะอยู่ภายในเมล็ดเป็นส่วนใหญ่ โดยน้ำมันนี้มีลักษณะเป็นน้ำสีเหลืองอ่อน ซึ่งองค์ประกอบส่วนใหญ่ในน้ำมันจะประกอบไปด้วย 1,8 cineol (20-60%), ?-caryophyllene, ?-pinene, ?-terpineol, ?-terpinyl acetate (20-53%), Geraniol, Geranyl acetate, Linalyl acetate, Limonene, Linalool, Myrcene, Nerol, Nerolidol, Sabinene, Terpinen-4-ol[1]

ประโยชน์ของกระวานเทศ

  • ผลและเมล็ดแห้งใช้เป็นเครื่องเทศหรือใช้แต่งกลิ่นอาหาร เช่น การนำมาแต่งกลิ่นน้ำพริกแกง แต่งกาแฟ กลิ่นเค้ก ขนมปัง เหล้า เครื่องดื่มแบบชาฝรั่ง เป็นต้น นอกจากนี้ยังใช้ผสมในเครื่องหอมและใช้ในการแต่งกลิ่นสบู่ น้ำหอม ผงซักฟอก และนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรที่มีฤทธิ์ในการช่วยขับลม[2]
  • ใช้ในการแต่งกลิ่นยาเตรียมหลายชนิด[1]

สมุนไพรไทย แพทย์แผนไทย สมุนไพรประจำบ้าน ที่คนไทยรู้จักกันดี สรรพคุณเป็นยา รักษาโรคได้ ควรมีติดไว้ประจำบ้าน พืชที่ใช้เป็นยารักษาโรค หรือ เสริมสุขภาพ ช่วยในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้เป็นอย่างดี การหาความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรกับชีวิตประจำวัน

สมุนไพรที่ได้จากส่วนของพืชโดยตรง (พืชวัตถุ) โดยส่วนต่างๆ ที่นำมานั้นมีสารที่สามารถใช้เป็นยาได้ ได้แก่ ใบ ดอก ผล เปลือกผล เมล็ด เปลือกเมล็ด รากหรือหัว ต้น แก่น กระพี้ เนื้อไม้ เปลือกไม้ สมุนไพรที่ได้จากอวัยวะของสัตว์ (สัตว์วัตถุ) ได้แก่ ตับ ดี นอ เขา เอ็น เลือด น้ำมัน มูล ฯลฯ เช่น ขี้ผึ้ง รังนก น้ำมันตับปลา สมุนไพรที่ได้จากแร่โดยธรรมชาติหรือสิ่งที่ประกอบขึ้นจากแร่ธาตุต่างๆ ตามกรรมวิธี (ธาตุวัตถุ) นำมาใช้เป็นยา  ติดตามได้ที่ doodido

ที่มา : medthai.com

  1. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “กระวานเทศ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com.
  2. คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. กรีนไฮเปอร์มาร์ท สารานุกรมผลิตผลและผลิตภัณฑ์จากพืชในซุปเปอร์มาร์เก็ต ฉบับคอมพิวเตอร์.  “กระวานเทศ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.sc.mahidol.ac.th.
  3. เครือข่ายระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารงาน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.  “กระวานและเร่ว”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: mis.agri.cmu.ac.th.