กระพี้เครือ สมุนไพรไม้เถาเนื้อแข็งใช้ลำต้นต้มดื่มเป็นยาแก้ผิดสำแดง

WM

ภาพจาก medthai

สรรพคุณของสมุนไพร กระพี้เครือ(ประดู่แล้ง, ถ่อนเครือ) ใช้ลำต้นต้มดื่มเป็นยาแก้ผิดสำแดง

กระพี้เครือ จัดเป็นสมุนไพรพรรณไม้เถาเนื้อแข็งขนาดใหญ่ พาดพันตามต้นไม้ใหญ่ไปได้ไกล ลำต้นเป็นสีเทาหรือสีขาว ตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนเล็กน้อย ส่วนกิ่งแก่จะเกลี้ยง มีเขตการกระจายพันธุ์ในอินเดีย พม่า ลาว และเวียดนาม ในประเทศไทยพบกระจายพันธุ์ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตกเฉียงใต้ โดยพบขึ้นตามป่าเบญจพรรณ บนพื้นที่เป็นภูเขาจนถึงระดับสูงประมาณ 150-750 เมตร[1],[2],[3]

กระพี้เครือ ชื่อสามัญ Dalbergia Tree มีชื่อวิทยาศาสตร์ Dalbergia rimosa var. foliacea (Benth.) Thoth. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Dalbergia foliacea Benth.) จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยถั่ว FABOIDEAE (PAPILIONOIDEAE หรือ PAPILIONACEAE)[1],[2],[3]

สมุนไพรกระพี้เครือ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ประดู่แล้ง (เลย), สะพี้เครือ (เพชรบูรณ์), ถ่อนเครือ (นครราชสีมา), หางไหลเถา (ราชบุรี), กระพี้เครือ (กาญจนบุรี, ภาคเหนือ) เป็นต้น[1],[2],[3]

ใบกระพี้เครือ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ ออกเรียงสลับ ยาวประมาณ 9-15 เซนติเมตร ใบย่อยมี 5-9 ใบ เรียงสลับ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปไข่กลับหรือรูปรีแกมขอบขนาน ปลายใบมนหรือเว้าตรงกลางเล็กน้อยหรือมีติ่งแหลมสั้น ๆ โคนใบมน

WM
ภาพจาก medthai

ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3.5-6.5 เซนติเมตร แผ่นใบหนาคล้ายหนังและเกลี้ยง แต่ใบอ่อนมีขนขึ้นประปรายทางด้านล่าง ก้านใบย่อยยาวได้ประมาณ 3-6 มิลลิเมตร[1],[2]

ดอกกระพี้เครือ ออกดอกเป็นช่อแยกแขนงสั้น ๆ ที่ปลายกิ่ง ยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร ดอกมีขนาดเล็กเป็นสีขาว มีจำนวนมาก ลักษณะเป็นรูปดอกถั่ว กลีบดอกมี 5 กลีบ สีขาว โคนกลีบเรียวลงเป็นก้านกลีบดอก กลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ โคนกลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ๆ ด้านนอกมีขนเล็กน้อย ดอกมีเกสรเพศผู้ 9 อัน ก้านชูอับเรณูติดกันเป็นแผ่น รังไข่มีขนขึ้นประปราย มีออวุล 2 เม็ด[1],[2]

ผลกระพี้เครือ ออกผลเป็นฝักแบน ลักษณะของฝักเป็นรูปขอบขนาน ปลายฝักแหลมหรือมน มีลายเส้นร่างแหบริเวณเมล็ดชัดเจน ฝักมีขนาดกว้างประมาณ 1.4-2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3.5-7 เซนติเมตร ฝักเมื่อแห้งจะไม่แตก ภายในมีเมล็ดประมาณ 1-2 เมล็ด เมล็ดเป็นสีน้ำตาล ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปไต แบน มีขนาดกว้างประมาณ 1.2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 9 มิลลิเมตร[1]

สรรพคุณของกระพี้เครือ

  • ลำต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ผิดสำแดง (ลำต้น)[1]

สมุนไพรไทย แพทย์แผนไทย สมุนไพรประจำบ้าน ที่คนไทยรู้จักกันดี สรรพคุณเป็นยา รักษาโรคได้ ควรมีติดไว้ประจำบ้าน พืชที่ใช้เป็นยารักษาโรค หรือ เสริมสุขภาพ ช่วยในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้เป็นอย่างดี การหาความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรกับชีวิตประจำวัน

สมุนไพรที่ได้จากส่วนของพืชโดยตรง (พืชวัตถุ) โดยส่วนต่างๆ ที่นำมานั้นมีสารที่สามารถใช้เป็นยาได้ ได้แก่ ใบ ดอก ผล เปลือกผล เมล็ด เปลือกเมล็ด รากหรือหัว ต้น แก่น กระพี้ เนื้อไม้ เปลือกไม้ สมุนไพรที่ได้จากอวัยวะของสัตว์ (สัตว์วัตถุ) ได้แก่ ตับ ดี นอ เขา เอ็น เลือด น้ำมัน มูล ฯลฯ เช่น ขี้ผึ้ง รังนก น้ำมันตับปลา สมุนไพรที่ได้จากแร่โดยธรรมชาติหรือสิ่งที่ประกอบขึ้นจากแร่ธาตุต่างๆ ตามกรรมวิธี (ธาตุวัตถุ) นำมาใช้เป็นยา  ติดตามได้ที่ doodido

ที่มา : medthai.com

  1. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ).  “กระพี้เครือ”.  หน้า 87.
  2. ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “กระพี้เครือ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/.
  3. ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้.  “กระพี้เครือ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th.