กระพังโหม สมุนไพรช่วยเจริญอาหาร และ รักษาอาการอักเสบ

WM

ภาพจาก medthai

สรรพคุณของสมุนไพร กระพัง ช่วยเจริญอาหารรักษาอาการอักเสบบริเวณปากและคอ

กระพังโหม จัดเป็นสมุนไพรพรรณไม้เถาเลื้อยประเภทล้มลุก เลื้อยพาดพันไปตามพื้นดินหรือเลื้อยพันต้นไม้อื่น ลำต้นมีขนาดเล็ก ลำต้นและใบมียางสี เมื่อขยี้ดมจะมีกลิ่นเหม็น ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและการเพาะต้นอ่อน พบขึ้นทั่วไปในป่าธรรมชาติ เช่น ป่าผสมผลัดใบ ป่าเต็งรัง บริเวณในสวนต่าง ๆ หรือในที่รกร้างว่างเปล่าทั่วไป[1]

กระพังโหม ชื่อวิทยาศาสตร์ Paederia foetida L. จัดอยู่ในวงศ์เข็ม (RUBIACEAE)[1]

สมุนไพรกระพังโหม มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ผักไหม (เชียงใหม่), ตะมูกปาไหล (อุดรธานี), กระเจียวเผือ (สกลนคร), เครือไส้ปลาไหล (มหาสารคาม), ตดหมูตดหมา ผักไหม (ภาคเหนือ), กระเจียวเผือ เครือไส้ปลาไหล ตะมูกปาไหล (ภาคอีสาน), กระพังโหม ตดหมูตดหมา (ภาคกลาง), ย่านพาโหม (ภาคใต้), พังโหม เป็นต้น[1]

ใบกระพังโหม ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงข้ามกัน แผ่นใบเป็นสีเขียว เนื้อใบบาง เส้นใบโค้งจรดกันที่ใกล้ ๆ ขอบใบ ก้านใบสั้น[1]

ดอกกระพังโหม ออกดอกเป็นช่อดอกเล็ก ๆ โดยจะออกตามซอกใบหรือโคนก้านใบ มีช่อละประมาณ 2-3 ดอก กลีบเลี้ยงดอกจะมี 5 กลีบ มีขนาดเล็ก ปลายกลีบแยกกัน กลีบด้านนอกเป็นสีขาว ส่วนกลีบด้านในเป็นสีม่วงแดงหรือสีชมพูประด้วยสีม่วงจุดสีน้ำตาล ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน และเกสรเพศเมีย 1 อัน อยู่ตรงกลาง[1]

ผลกระพังโหม ผลมีลักษณะกลม ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่จะเป็นสีน้ำตาล

WM
ภาพจาก medthai

หมายเหตุ :

กระพังโหมมีอยู่ด้วยกันหลายสายพันธุ์ เช่น ชนิดใบใหญ่ ลักษณะของใบจะเป็นรูปไข่ มีขนสั้นขึ้นปกคลุม เรียกว่า “กระพังโหมใหญ่” หรือ “ตดหมู”, ชนิดใบเล็ก ลักษณะของใบจะมีลักษณะเป็นรูปเรียวยาวหรือรูปหอก เรียกว่า “กระพังโหมเล็ก” หรือ “ตดหมา”, ชนิดใบใหญ่ไม่มียางไม่มีขน มีกลิ่นเหม็นอ่อน ๆ เรียกว่า “ย่านพาโหม” ส่วนกระพังโหมแท้ ๆ ต้องเป็นชนิดที่เด็ดใบและเถาสด ๆ จะมียางออกมา ส่วนชนิดที่ไม่มียางจะเรียกว่า “ย่านพาโหม”[1]

สรรพคุณของกระพังโหม

  1. ใบและเถาสดมีกลิ่นเหม็น ใช้กินเป็นยาอายุวัฒนะ แก้ธาตุพิการ แก้ตานซาง แก้ดีรั่ว ช่วยเจริญอาหาร (ใบและเถา)[1],[3]
  2. ใบสดใช้ตำพอกอุดรูฟันแก้ปวดฟันและแก้รำมะนาด (ใบ)[1],[3] ส่วนผลก็มีสรรพคุณช่วยแก้ปวดฟันเช่นกัน และใช้ทาฟันให้เป็นสีดำ (ผล)[1]
  3. ใช้เป็นยารักษาอาการอักเสบบริเวณปากและคอ (ทั้งต้น)[1]
  4. ใบและเถาใช้กินเป็นยาแก้ไข้ แก้ตัวร้อน (ใบและเถา)[1],[3] ส่วนทั้งต้นใช้เป็นยาแก้ไข้รากสาด ใช้ต้มดื่มแก้พิษไข้ (ทั้งต้น)[1] เมื่อเวลาเป็นไข้ให้ใช้น้ำต้มจากเถาหรือใบ นำมาใช้เช็ดตัวหรือนำผ้าสะอาดชุบน้ำต้มมาวางไว้บนศีรษะ ก็จะทำให้อาการไข้ลดลงได้เป็นอย่างดี (เถา)[1]
  5. รากสดใช้ฝนกับน้ำหยอดตาแก้พิษ แก้ตาฟาง ตาแฉะ ตามัวได้ดีมาก ในสมัยก่อนนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย (ราก)[1],[3]
  6. ช่วยทำให้อาเจียน ด้วยการใช้รากหรือเปลือกนำมาต้มกับน้ำดื่ม (ราก, เปลือก)[1]
  7. ทั้งต้นใช้ปรุงเป็นยาขับน้ำนม (ทั้งต้น)[1]
  8. ใช้เป็นยาแก้ท้องเสีย ซึ่งจากการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ พบว่าสารสกัดจากกระพังโหมสามารถแก้อาการท้องเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ (ใบและเถา, ทั้งต้น)[1],[3]
  9. ใช้เป็นยาแก้บิด (ทั้งต้น)[1]
  10. ใบและเถาใช้เป็นยาขับลม เป็นยาระบายอ่อน ๆ (ใบและเถา)[1] ในภาคอีสานถ้ามีอาการท้องอืด เมื่อกินยอดกระพังโหมจะช่วยขับลมได้เป็นอย่างดี (ใบ)[1] ส่วนน้ำต้มจากรากก็มีสรรพคุณเป็นยาขับลมด้วยเช่นกัน (ราก)[1]
  11. ใช้เป็นยาขับพยาธิไส้เดือนในเด็ก (ใบและเถา)[1],[3]
  12. ทั้งต้นใช้ต้มดื่มเป็นยาขับปัสสาวะ ช่วยถอนพิษต่าง ๆ (ทั้งต้น)[1] หมอยาพื้นบ้านในประเทศฟิลิปปินส์จะนำใบมาต้มและนำมาตำให้แหลก แล้วนำมาโปะลงบนท้องจะช่วยแก้ปัสสาวะขัด ทำให้สามารถขับปัสสาวะออกมาได้ นอกจากนี้ถ้านำใบมาต้มดื่มก็ช่วยขับนิ่วออกจากกระเพาะปัสสาวะได้ด้วย (ใบ)[1]
  13. ใช้เป็นยารักษาโรคเริม โรคงูสวัด (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[2]
  14. รากใช้เป็นยาแก้โรคดีซ่าน (ราก)[1]
  15. ใช้เป็นยารักษาบาดแผล (ใบและเถา, ทั้งต้น)[1]
  16. ใช้ใบหรือทั้งต้นรวมรากแบบสดบดให้ละเอียดใช้เป็นยาทาหรือตำพอกบาดแผลที่ถูกงูกัด จะเป็นยาถอนพิษ ก่อนนำผู้ถูกงูกัดไปพบแพทย์
  17. ช่วยเหลือ แก้ปวดแสบปวดร้อนที่ผิวหนัง (ใบ, ทั้งต้น)[1],[3]
  18. หมอยาพื้นบ้านในประเทศฟิลิปปินส์จะใช้น้ำต้มจากใบนำมาอาบเป็นยารักษาโรคไขข้อ (ใบ)[1]
  19. นอกจากนี้ยังใช้กระพังโหมเป็นยาใช้ถอนพิษสุรายาสูบ พิษจากอาหาร (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[1]

ประโยชน์ของกระพังโหม

  • ยอดอ่อน ใบอ่อน และดอก สามารถนำมารับประทานเป็นผักได้ มีรสขมกลิ่นเหม็นเขียว (กลิ่นหอม) มีสรรพคุณช่วยระบายความร้อนในร่างกาย โดยจะออกยอดมากในช่วงฤดูฝน บ้างมีจำหน่ายในตลาดสดในบางท้องถิ่น ทางภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ จะใช้ยอดอ่อนและใบอ่อนเป็นผักสดรับประทานร่วมกับน้ำพริก ชาวอีสานใช้รับประทานร่วมกับลาบก้อย ส่วนชาวใต้จะนำไปซอยให้ละเอียดเป็นผักที่ใช้ผสมปรุงเป็นข้าวยำ ส่วนดอกจะมีการรับประทานเป็นผักสดในบางท้องที่ แต่ก็ไม่เป็นที่นิยมมากนัก บางคนจะใช้น้ำคั้นจากเถาและใบมาผสมปรุงเป็นขนมขี้หนู เพื่อให้ขนมขี้หนูเป็นสีเขียว[1] ส่วนในอินเดียจะนำมาปรุงในซุปเพื่อช่วยบำรุงกำลังให้คนชราที่ฟื้นไข้หรือคนชรากิน[3]
  • ชาวบ้านจะนิยมนำต้นกระพังโหมมาปลูกไว้ใกล้ ๆ บริเวณบ้านเพื่อเก็บมารับประทานได้สะดวก (แต่การปลูกควรทำร้านให้เลื้อยหรือปลูกบริเวณริมรั้ว)[1]
  • เกษตรกรที่เลี้ยงหมู มีการใช้สมุนไพรชนิดนี้เป็นยาลดไข้ด้วย ด้วยการดึงเอาเถามาทุบให้พอแหลกหรือให้มีน้ำออกมา แล้วเอาเถานั้นมาลูบไปตามตัวหมูที่เป็นไข้ จะทำให้ไข้ของหมูลดลง[1]
  • ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิในสัตว์เลี้ยง[1]
  • ในประเทศอินเดียมีการพัฒนากระบวนการผลิตน้ำมันจากสมุนไพรชนิดนี้มาใช้เป็นยาทาแก้ปวดข้อและปวดหลัง[1]

สมุนไพรไทย แพทย์แผนไทย สมุนไพรประจำบ้าน ที่คนไทยรู้จักกันดี สรรพคุณเป็นยา รักษาโรคได้ ควรมีติดไว้ประจำบ้าน พืชที่ใช้เป็นยารักษาโรค หรือ เสริมสุขภาพ ช่วยในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้เป็นอย่างดี การหาความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรกับชีวิตประจำวัน

สมุนไพรที่ได้จากส่วนของพืชโดยตรง (พืชวัตถุ) โดยส่วนต่างๆ ที่นำมานั้นมีสารที่สามารถใช้เป็นยาได้ ได้แก่ ใบ ดอก ผล เปลือกผล เมล็ด เปลือกเมล็ด รากหรือหัว ต้น แก่น กระพี้ เนื้อไม้ เปลือกไม้ สมุนไพรที่ได้จากอวัยวะของสัตว์ (สัตว์วัตถุ) ได้แก่ ตับ ดี นอ เขา เอ็น เลือด น้ำมัน มูล ฯลฯ เช่น ขี้ผึ้ง รังนก น้ำมันตับปลา สมุนไพรที่ได้จากแร่โดยธรรมชาติหรือสิ่งที่ประกอบขึ้นจากแร่ธาตุต่างๆ ตามกรรมวิธี (ธาตุวัตถุ) นำมาใช้เป็นยา  ติดตามได้ที่ doodido

ที่มา : medthai.com

  1. คลินิกการแพทย์แผ่นไทยพฤกษเวช.  “กระพังโหม”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.prueksaveda.com.
  2. นิทรรศการงานวิจัย 60 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พัฒนาคน พัฒนาชาติ ศาสตร์แห่งแผ่นดิน.  “มหัศจรรย์สมุนไพรไทย Amazing Thai Medicinal Plants”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rdi.ku.ac.th/Ku-research60/
  3. ไทยรัฐออนไลน์.  “กระพังโหม เหม็นอร่อยมีสรรพคุณ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.thairath.co.th.