กรมวิชาการเกษตรแนะเกษตรกร ผู้ปลูกส้มโอระวังหนอนเจาะผลส้มโอ

WM

ภาพโดย Dean Moriarty จาก Pixabay

ระวังหนอนเจาะผลส้มโอ กรมวิชาการเกษตรแนะเกษตรกร เฝ้าระวัง

กรมวิชาการเกษตรแนะเกษตรกร สวนส้มโอในช่วงที่มีแดดแรง กลางวันมีลมแรง และกลางคืนอุณหภูมิลดต่ำลงระยะนี้ กรมวิชาการเกษตร แนะเกษตรกรผู้ปลูกส้มโอให้เฝ้าระวังหนอนเจาะผลส้มโอในระยะที่ต้นส้มโอติดผล เริ่มแรกจะพบตัวเต็มวัยเพศเมียวางไข่เป็นฟองเดี่ยวหรือเป็นกลุ่มประมาณ 2-29 ฟอง บนผลส้มโออายุประมาณ 2 สัปดาห์จนถึงระยะเก็บเกี่ยว

เมื่อหนอนฟักจะกัดกินเข้าไปในผลส้มโอ โดยรอยเจาะทำลายของหนอนจะมีมูลที่ถ่ายออกมา และมียางไหลเยิ้ม ทำให้ผลเน่าและร่วงก่อนการเก็บเกี่ยวผลผลิตส้มโอ

แนวทางในการป้องกันและแก้ไขการเข้าทำลายของหนอนเจาะผลส้มโอ เกษตรกรควรควบคุมบังคับให้ต้นส้มโอแตกยอด ออกดอก และติดผลในระยะเดียวกัน เพื่อง่ายต่อการป้องกันกำจัด สะดวกในการดูแลรักษา และช่วยลดปริมาณหนอนเจาะผลส้มโอ

จากนั้น ให้เกษตรกรเก็บหรือเด็ดผลอ่อนที่ถูกหนอนเจาะผลส้มโอเข้าทำลายนำไปฝังหรือเผาไฟทิ้งนอกแปลงปลูก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดต่อไป

WM
ภาพโดย S. Hermann & F. Richter จาก Pixabay

สำหรับในแหล่งปลูกที่พบการระบาดเป็นประจำ เกษตรกรควรหมั่นสำรวจตรวจดูหนอนเจาะผลส้มโอในแปลงปลูกช่วงที่ต้นส้มโอติดผลอ่อน เมื่อผลส้มโออายุประมาณ 2 สัปดาห์ เกษตรกรควรพ่นด้วยสารฆ่าแมลง

  • อีมาเมกตินเบนโซเอต 1.92% อีซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
  • หรือสารโพรฟีโนฟอส 50% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
  • หรือสารแลมบ์ดาไซฮาโลทริน 2.5% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
  • หรือสารฟิโพรนิล 5% เอสซี อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

โดยพ่น 4 ครั้ง และพ่นห่างกันทุก 7 วัน จากนั้น เมื่อผลส้มโออายุประมาณ 1.5 เดือน เกษตรกรควรห่อผลส้มโอด้วยถุงกระดาษห่อผลสีขาว เพื่อป้องกันการเข้าทำลายของหนอนเจาะผลส้มโอ

เกษตร และ บทวิเคราะห์ เทคโนโลยีทางการเกษตร ตลาดขายพืชผลทางการเกษตร ผลกระทบทางการเกษตร งบประมาณและนโยบายรัฐเพื่อการเกษตร และการส่งออกพืชผลทางการเกษตร ที่ได้รับความสนใจ ติดตามได้ที่ doodido

ที่มา  เกษตรก้าวไกล