กบดิ่งพสุธา สูตรสำเร็จสมาร์ท ฟาร์มเมอร์ “ขอนแก่น”

SA Game

ภาพจาก อนุรักษ์อาหารเมืองเหนือ

ภูดิศ หาญสวัสดิ์ สมาร์ท ฟาร์มเมอร์ “ขอนแก่น” เปิดสูตร กบดิ่งพสุธา

กบดิ่งพสุธา สูตรสำเร็จของ ภูดิศ หาญสวัสดิ์  เจ้าของ “บ้านสวน สานฝัน” บ้านหนองไฮ ตำบลบ้านหัน อำเภอโนนศิลา จังหวัดขอนแก่น ถือว่าเป็นคนหนุ่มรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จในอาชีพเกษตรกรรม ในระยะเวลาไม่กี่ปี ด้วยความมุมานะพยายามเรียนรู้บวกกับการลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง

โดยมีรางวัลการันตีมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ประธานยังสมาร์ท ฟาร์มเมอร์ (Young Smart Farmer) จังหวัดขอนแก่น ในฐานะต้นแบบเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จในการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ สืบสานตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ของกรมส่งเสริมการเกษตร และรางวัลเกษตรกรดีเด่น สาขาบัญชีฟาร์ม ระดับภาค ประจำปี 2561 ของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์

นอกจากนี้ ยังทำงานจิตอาสาเพื่อช่วยเหลือสังคมในหลายบทบาท อาทิ เป็นอาสาสมัครการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม (อสปก.) เป็นครูบัญชีอาสา อำเภอโนนศิลา จังหวัดขอนแก่น และเป็นประธานกลุ่มข้าว 3D (อร่อยดี ปลอดภัยดี สุขภาพดี) ตำบลบ้านหัน อำเภอโนนศิลา และเป็นวิทยากรบรรยายเรื่องการเกษตรและการทำบัญชีครัวเรือนให้หน่วยงานต่าง ๆ และที่บ้านของเขายังเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ประจำตำบลบ้านหันด้วย

SA Game
ภาพจาก pixabay

ภูดิศ หาญสวัสดิ์ ตัดสินใจมาทำอาชีพเกษตรกรรม เมื่อปี 2556  ที่จังหวัดขอนแก่น บนพื้นที่ 15 ไร่ โดยที่ไม่มีความรู้เรื่องการเกษตร แต่ได้ศึกษาและเรียนรู้ เรื่องการเกษตร จากพ่อตา แม่ยาย และอินเตอร์เน็ต รวมถึงได้ลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง  โดยใช้เงินทุน ประมาณ 400,000 บาท โดยจัดสรรที่ดินเป็น 4 ส่วน

ภูดิศ เริ่มด้วยการปลูกผักปลอดสารและเลี้ยงปลา ส่งขายในหมู่บ้าน และตามร้านค้าต่าง ๆ ต่อมาเลี้ยงกบ เนื่องจากเห็นว่ามีตลาดรองรับ และได้แปรรูปกบเพื่อเพิ่มมูลค่า พร้อมทั้งแปรรูปพืชผักผลไม้ต่าง ๆ  ซึ่งกบถือเป็นรายได้หลัก และเป็นกิจกรรมเด่น เพราะเป็นการเลี้ยงกบแบบครบวงจร ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ทั้งหมด 16 บ่อ

แต่การเลี้ยงในบ่อดิน ถือว่าดีที่สุด เพราะทำให้กบผิวสวย โรคน้อย แข็งแรง โตไว อย่างไรก็ตาม ก็มีบ่อกึ่งดิน กึ่งปูน บ่อปูน และกระชังลอยน้ำด้วย เพื่อให้ผู้สนใจได้ศึกษาตามสภาพพื้นที่ของแต่ละราย

ปัจจุบัน บ้านสวน สานฝัน มีผลผลิตที่หลากหลาย ทำให้มีรายได้หลายแสนบาทต่อปี อาทิ กบดิ่งพสุธา (กบย่างรมควัน) กบแปรรูปแช่แข็ง (เน้นส่งออก) เพิ่มมูลค่าจากกิโลกรัมละ 80-90 บาท เป็น 1,500 บาท นอกจากนี้ ยังมีหนังกบตากแห้ง กบแช่แข็ง  ที่ส่งออกไปยัง ประเทศลาว มีกบยัดไส้ และกบแดดเดียวด้วย

อีกทั้งยังมีการจัดจำหน่าย ทั้งกบเล็ก กบเนื้อ และกบพ่อแม่พันธุ์ รวมทั้งจิ้งหรีดคั่ว ซึ่งที่ผ่านมามีรายได้จากกบ เฉลี่ยปีละ 220,000 บาท โดยขายทั้งที่สวน และส่งตามร้านค้าต่าง ๆ ในพื้นที่ รวมทั้งขายในออนไลน์ทางเฟซบุ๊ก “บ้านสวน สานฝัน”

ภูดิศ เล่าถึงการเลี้ยงกบแบบครบวงจรว่า “จะขยายพันธุ์เพื่อขายลูกกบด้วย สำหรับพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์จะเพาะเลี้ยงเอง ฟูมฟักอย่างดี จากลูกกบในฟาร์ม เมื่ออายุได้ 4 เดือน จะคัดเพศ จะเก็บทั้งกบเพศผู้และเพศเมียไว้อย่างละ 50 ตัว”

จากนั้นจะแยกเลี้ยงต่างหากจากกบเนื้อ โดยแยกใส่กระชัง และแยกเลี้ยงกบเพศผู้กับกบเพศเมียออกจากกัน โดยกบที่พร้อมและสามารถเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ได้นั้น ทางฟาร์มเลี้ยงจนกระทั่งมีอายุ 12 เดือนขึ้นไปเท่านั้น

ช่วงเวลาการเพาะพันธุ์นั้น เริ่มเพาะตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมของทุกปี โดยจะเพาะในบ่อปูน ขนาด 3×3 เมตร นำพ่อพันธุ์ 7 ตัว และแม่พันธุ์ 5 ตัว หากบางครั้งอุณหภูมิน้ำสูง (น้ำอุ่น) ก็จะใส่น้ำแข็งช่วย เพื่อให้น้ำเย็นขึ้น

กบจะไข่ช่วงตี 4 – ตี 5 ของคืนนั้น ช่วงเช้าจะพบแพไข่กบอยู่เต็มบ่อ จากนั้นตักพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ออก แยกพักไว้  สิ่งสำคัญคือ พ่อแม่พันธุ์ชุดเดิมจะผสมพันธ์ได้อีกครั้ง ก็ต่อเมื่อผ่านไปและประมาณ 1 สัปดาห์ นับจากวันที่ มีการแยกพัก

เมื่อได้ 2 วัน ไข่กบก็จะฟักเป็นตัว ช่วงนี้ยังจะไม่ให้อาหาร และเริ่มให้อาหารในวันที่ 3 โดยอาหารจะเป็นไข่แดงต้มสุก 8-10 ฟอง ต่อวัน ติดต่อกัน 2 สัปดาห์ สัปดาห์ที่ 3 จะเริ่มให้อาหารลูกกบแบบเม็ดเล็กพิเศษ

เมื่อผ่านไปได้ 1 เดือน ลูกกบจะ มีขาครบ 4 ขา จะเปลี่ยนเป็นให้อาหารกบ เบอร์ 1 ผสมไข่ไก่ กล้วยน้ำว้าสุก และนมสด (อาหารกบ 1 กิโลกรัม + ไข่ไก่ 1 ฟอง + กล้วยน้ำว้าสุก 1 ลูก + นมสด 2 ช้อนโต๊ะ) เป็นสูตรเฉพาะที่ฟาร์ม เพื่อเพิ่มธาตุอาหาร วิตามิน และภูมิคุ้มกัน ทั้งนี้สามารถเริ่มจำหน่ายลูกกบได้หลังผ่านไป 45 วัน ตัวละ 2 บาท

สำหรับเทคนิคการเลี้ยงกบ นั้นจะ ต้องหมั่นทำความสะอาดบ่อทุก ๆ 1-2 วัน เพราะส่งผลต่อการเจริญเติบโต และการป้องกันโรค และคัดขนาดลูกกบทุก ๆ 7 วัน เพราะลูกกบจะโตไม่พร้อมกันและ ตัวใหญ่จะกินตัวเล็กกว่า

พื้นที่ในการเลี้ยง 1 ตารางเมตร จะเลี้ยงได้ 200 ตัว หลังจากคัดแยกขนาดทุก ๆ 7 วัน จะได้ลูกกบบ่อละ ประมาณ 100 ตัว เมื่อเข้าสู่เดือนที่ 2 ซึ่งความหนาแน่นจะมีความสมดุลไม่แออัด กบไม่เครียด กินอาหารเก่ง โตไว เพียง 3 เดือน ก็ส่งขายตลาดได้ โดยขายส่งกิโลกรัมละ 80 บาท ถึง 100 บาท

นอกจากนี้ ในช่วงปลายฤดูฝน กบจะเนื้อมากสามารถนำมาแปรรูปเป็นกบดิ่งพสุธา (กบแดดเดียว) และกบยัดไส้ได้อีกด้วย “กบดิ่งพสุธา”  ถือว่าเป็นเมนูถนอมอาหารชนิดหนึ่ง ที่มีขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยาก

1.คัดเลือกกบเนื้อขนาดเล็ก ประมาณ 30 ตัว ต่อกิโลกรัม

2.นำไส้และเครื่องในออก ล้างน้ำเปล่าให้สะอาด 2 ครั้ง

  1. คลุกเคล้าเครื่องเทศ ประกอบด้วย พริกไทยป่น เกลือ รากผักชี จะไม่ใส่น้ำปลาและผงชูรส
  2. นำกบที่ได้ไปผึ่งแดดบนวัสดุตากในมุ้งเขียวกันแมลง เพียงแค่ 1 แดด เท่านั้น เนื่องจากกบตัวเล็กมาก หากตากนาน เนื้อกบจะแห้งคล้ายกระดาษ รับประทานไม่อร่อย

ที่ผ่านมาลูกค้าส่วนมากจะเป็นชาวต่างชาติที่เพื่อนหรือเพื่อนของเพื่อนชอบของแปลกใหม่ เนื่องจากการทำกบดิ่งพสุธานั้นมีต้นทุนสูง คือ กบสด 5 กิโลกรัม จะได้กบดิ่งพสุธา 1 กิโลกรัม

เมื่อบวกกับค่าแรงตัดแต่งและบรรจุภัณฑ์ บรรจุเพื่อส่งขาย จะแพ็กบรรจุใส่ถุงซีลสุญญากาศ พร้อมกับใส่วัสดุดูดความชื้น จึงตั้งราคาขายปลีกอยู่ กิโลกรัมละ 1,500 บาท

ทั้งนี้ วิธีการนำไปปรุงเป็นอาหาร ทำได้หลายเมนู อาทิ นำไปทอด รับประทานได้ทันที หรือนำไปทำเป็นน้ำพริกกบ วิธีการทำเช่นเดียวกันกับน้ำพริกปลาทู แต่ต้องนำกบดิ่งพสุธาไปทอดให้สุกเสียก่อน

ส่วนที่มาของการทำกบยัดไส้ นั้นเดิมเป็นเมนูโบราณของภาคอีสาน ซึ่งเมนูนี้ได้ห่างหายไปประมาณ 10-15 ปี เริ่มจากเมื่อกลางปี 2560 มีโอกาสได้ร่วมพูดคุยกับชาวบ้านกลุ่มหนึ่งในเรื่องทั่ว ๆ ไป และได้พูดถึงเมนูกบยัดไส้ จึงเกิดความสนใจ และเริ่มหาข้อมูล ประกอบกับช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ได้มีโอกาสไปส่งกบเนื้อให้เครือข่ายที่ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งก็ทำเมนูกบยัดไส้ขาย จึงได้พูดคุยแลกเปลี่ยนและวิธีการทำซึ่งกันและกัน

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะทำขาย ได้ทดลองทดสอบหลายครั้งจนได้รสชาติที่ลงตัว โดยจะใช้กบ ขนาด 8-10 ตัว ต่อกิโลกรัม นำเครื่องในออก ลอกหนัง ตัวหัว ตัดขาหน้าและขาหลัง นำหัวและขามาสับรวมกับหมูบดติดมัน ปรุงรสด้วยพริกแกงคั่ว ใบมะกรูดซอย ข่าซอย และมะพร้าวขูด จากนั้นนำส่วนผสมที่ได้ยัดกลับเข้าไปในตัวกบอีกครั้ง  นำไปนึ่ง ไฟอ่อน ประมาณ 20 นาที

ขั้นตอนสุดท้าย คือ การนำไปอบรมควัน  หรือย่างบนเตาย่างไฟอ่อนๆ ซึ่งจะทำให้กบยัดไส้แห้งรับประทานง่าย อีกทั้งยังหอมกลิ่นรมควัน คล้าย ๆ ไส้กรอกรมควัน หรือเบคอนรมควัน ขายเป็นตัว ตัวละ 20 บาท โดยทำเป็นแพ็กขนาดเดียว คือ 5 ตัว 100 บาท

นอกจากนี้ ผลผลิตในสวนยังมีข้าวสามสี ข้าวหมากหวาน แจ่วปลาร้าบองสุก แบรนด์ MINE agrifood มะเขือเทศเชื่อม หน่อไม้ดอง และอื่น ๆ รวมทั้งผักผลไม้ปลอดสาร 100%

จากที่ลงทุนไป 400,000 บาท คุณภูดิศ บอกว่า ตอนนี้เริ่มมีเงินเก็บ รายได้มั่นคง ทุกวันนี้ วันละ 1,000 บาท หาได้ไม่ยาก สวนของตนเป็นแปลงเกษตรแบบผสมผสาน อยากกินอะไร ชอบกินอะไร ก็นำมาปลูก เป็นแปลงเกษตรปลอดสารเคมีแปลงเดียวในหมู่บ้าน

มีชาวบ้านในชุมชน ต่างตำบล ต่างอำเภอ ต่างจังหวัด มาแวะเวียนอยู่เป็นระยะ เป็นแปลงเกษตรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรอินทรีย์ ปรับเปลี่ยนเป็นแปลงตัวอย่างให้ชุมชนหันมาทำเกษตรไม่ใช้เคมี

สำหรับแผนในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เขาบอกว่า ช่วงปลายปีนี้จะทำโรงงานแจ่วปลาร้าบองสุกขนาดเล็ก เพื่อทำเป็นชนิดแห้งกึ่งสำเร็จรูป จะได้ส่งออกได้สะดวก นับเป็นเกษตรกรหน้าใหม่อีกรายที่นำผลผลิตมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า อีกทั้งยังปลูกพืชแบบผสมผสานทำให้มีรายได้ทุกวัน

สนใจกิจกรรมต่าง ๆ ของ บ้านสวน สานฝัน ติดต่อสอบถาม ยังสมาร์ท ฟาร์มเมอร์ รายนี้ได้ที่ โทร. 082-704-5683

เกษตร และ บทวิเคราะห์ เทคโนโลยีทางการเกษตร ตลาดขายพืชผลทางการเกษตร ผลกระทบทางการเกษตร งบประมาณและนโยบายรัฐเพื่อการเกษตร และการส่งออกพืชผลทางการเกษตร ที่ได้รับความสนใจ ติดตามได้ที่ doodido

ที่มา : เทคโนโลยีชาวบ้าน