คุณแม่ต้องรู้!! วิธีเลือกอาหารให้ลูกน้อยตามช่วงวัยมีเมนูอะไรบ้าง?

แนะนำ!! การเริ่มอาหารเสริมที่เหมาะสมสำหรับเด็ก 6 เดือน-1 ปี เพื่อเสริมสร้างพัฒนาการของเด็ก
สำหรับการเลือกอาหารเด็กตามช่วงวัย นอกจากลูกน้อยจะได้รับโภชนาการที่ดีและถูกต้อง ยังช่วยเสริมสร้างให้ลูกมีร่างกาย และพัฒนาการที่แข็งแรง พร้อมเรียนรู้ในทุกๆ วัน การรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับลูกน้อยแต่ละช่วงวัยที่มีความต้องการสารอาหารต่างกัน และการให้อาหารเด็กที่ถูกกับวัยนั้นสำคัญต่อพัฒนาการและสุขภาพของลูกเป็นอย่างมาก
เพื่อให้ลูกได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน และเพียงพอต่อการเจริญเติบโต และยังเป็นการช่วยให้ลูกได้ปรับตัวจากการกินอาหารเหลว เป็นอาหารที่มีเนื้อสัมผัสที่หลายหลากมากขึ้น เพื่อให้มีพัฒนาการในการกินที่เหมาะสมต่อไป และยังเป็นการพัฒนากล้ามเนื้อที่จะใช้ในการพูด ยิ่งเด็กวัย 6 เดือนขึ้นไป จะเริ่มมีพัฒนาทักษะด้านการเคี้ยว และการใช้ลิ้น คุณแม่จึงควรเตรียมอาหารเด็กให้เหมาะสมกับแต่ละช่วงวัยของลูกน้อยด้วยเมนูง่ายๆ ดังต่อไปนี้ค่ะ

เมนูอาหารเด็ก 6 เดือนขึ้นไป
- อาหารเด็ก 6 – 7 เดือน
เมื่อลูกอายุ 6 เดือน ลูกจะเริ่มส่งสัญญาณว่าเขาพร้อมสำหรับการเริ่มอาหารเสริมตามวัย คุณแม่อาจเริ่มให้อาหารเด็กที่มีลักษณะอ่อนนุ่ม เพื่อช่วยให้ลูกน้อยพัฒนาทักษะการเคี้ยว ความแข็งแรงของลิ้น และยังเป็นการช่วยในการพัฒนาทักษะการสื่อสารของลูกน้อยด้วย โดยการให้ลูกกินอาหารเด็กวันละ 1 มื้อ ควบคู่กับกินนมแม่ อาหารเด็กที่ลูกควรได้รับแต่ละครั้งควรเป็นอาหารเสริมธัญพืชสำหรับทารกที่อุดมด้วยธาตุเหล็ก เนื้อสัตว์บด เนื้อปลาบด หรือเนื้อไก่บด ผัก ผลไม้ และผลิตภัณฑ์นม สลับสับเปลี่ยนระหว่างกลุ่มอาหารทั้งห้ากลุ่ม

- อาหารเด็ก 8 เดือน
เมื่ออายุ 8 เดือน คุณแม่ควรให้อาหารเด็กที่มีเนื้อสัมผัสหลากหลายมากขึ้น เนื่องจากช่วงนี้ลูกสามารถกินอาหารเด็กที่มีเนื้อหยาบได้มากขึ้น หรือให้อาหารเด็กที่มีเนื้อนิ่มๆ สำหรับหยิบจับได้ เพื่อส่งเสริมทักษะด้านการเคี้ยว อาจเป็นผลไม้เนื้อนิ่มสักชิ้น ผักนึ่ง ไข่ต้ม ชีส เนื้อสัตว์หรือเนื้อปลานิ่มๆ อาจเพิ่มจำนวนมื้อจาก 1 มื้อ เป็น 2 มื้อ ควบคู่กับการกินนมแม่ไปด้วยก็ได้ หรือการเลือกอาหารเสริมสำหรับเด็ก 8 เดือน ที่มีส่วนผสมของข้าวบด ปลา หรือ ไก่ เป็นต้น

เมนูอาหารเด็ก 6-8 เดือนขึ้นไป
- มันเทศสุดยอดอาหารสำหรับเด็กวัยนั่งได้
- เมนูไก่ใบตำลึง
- ซุปครีมบรอกโคลี่
- โยเกิร์ตตุ๋นฟักทอง
- ไข่แดงอารมณ์ดี
- เมนูผักโขมนักคิด
- เมนูตับบดนักจินตนาการ
- เมนูอะโวคาโดศิลปินน้อย
- เมนูซุปไก่ข้นเตาะแตะ

เมนูอาหารเด็ก 12 เดือนขึ้นไป
เด็กวัยนี้จะเริ่มมีฟันงอกสามารถเคี้ยวกลืนอาหารได้ดีขึ้น และสนุกกับการกินมากขึ้น สามารถกินข้าวข้าวสวยหุงนิ่มๆ พร้อมกับผัก และเนื้อสัตว์ที่หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ อีกทั้งสามารถเพิ่มจำนวนมื้ออาหารเด็กให้ลูกเป็น 3 มื้อได้ นอกจากนี้คุณแม่ควรส่งเสริมให้ลูกกินอาหารเด็กด้วยตัวเอง เทคนิคง่ายๆ อยู่ที่การจัดอาหารที่ง่ายต่อการหยิบจับ และมีขนาดพอดีคำ หรืออาหารเสริมที่มีเนื้อเริ่มหยาบมีส่วนผสมของธัญพืชและผักรวม เพราะมีโภชนาการที่เหมาะสมกับเด็กวัยนี้
เมนูอาหารเด็ก 12 เดือนขึ้นไป
- คัสตาร์ดแครอท เมนูเนื้อนิ่มที่ลูกชอบ
- เต้าหู้หน้าหมูสับ เมนูเด็ก สูตรเด็ดโปรตีนสูง
- ปังแฮมชีสไข่พระอาทิตย์ อร่อยด่วนในยามเช้า

ผักมีประโยชน์ต่อเมนูอาหารของลูกน้อยอย่างไร?
คุณแม่สังเกตไหมคะว่าในทุกๆ เมนูของอาหารเด็กต้องมีผักเป็นหนึ่งในวัตถุดิบ เนื่องจากผักถือเป็นหนึ่งในกลุ่มอาหารหลักของลูกน้อย เพราะมีวิตามิน แร่ธาตุสำคัญ และใยอาหารที่จำเป็นต่อระบบการขับถ่าย แถมยังช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือดได้อีกด้วย ฉะนั้นการให้ลูกน้อยรับประทานผักจะช่วยลดโอกาสในการที่ลูกน้อยจะกินอาหารระหว่างวันมากเกินไป ถึงแม้ว่าผักจะดีต่อสุขภาพ แต่เด็กๆ ก็มักจะชอบน้ำตาลที่ให้ความหวานมากกว่าอยู่ดี ดังนั้นลูกน้อยจึงมักจะปฏิเสธผักที่มีอยู่ในอาหารที่คุณแม่เตรียมให้ เราจึงขอแนะนำเคล็ดลับดีๆ เพื่อช่วยให้ลูกน้อยกินผักได้ง่ายขึ้น
วิธีที่ง่ายที่สุดคือ เป็นตัวอย่างที่ดี โดยแสดงให้ลูกเห็นว่าคุณแม่ก็กินผักด้วยเช่นกัน จากนั้นลูกน้อยจะเริ่มมีความรู้สึกอยากเลียนแบบคุณแม่ ถึงเวลานี้คุณอาจใช้วิธีการซ่อนผักอย่างแนบเนียบในอาหารของลูกน้อย เช่น ลองผสมผักบดลงในอาหารเสริมธัญพืชสำหรับเด็กที่ลูกน้อยชื่นชอบ หรือเริ่มด้วยการเติมผักชิ้นเล็กๆ เช่น เมล็ดถั่วลันเตา แครอท ฯลฯ ผสมลงในอาหารที่ลูกกินเป็นประจำ คุณแม่สามารถช่วยให้ลูกสร้างความคุ้นเคยกับรสชาติของผักได้โดยการปั่นผักกับน้ำผลไม้ หรือปั่นกับโยเกิร์ตเพื่อทำเป็นสมูทตี้แสนอร่อยและสดชื่น

เพื่อเป็นการเปิดประสาทการรับรสชาติให้ลูกได้รับรสชาติที่หลากหลายมากขึ้น คุณแม่ควรลองให้ลูกกินผักชนิดต่างๆ ที่มีรสชาติแตกต่างกัน ในช่วงแรกลูกอาจปฏิเสธการกินผัก และอาจจะยากสักหน่อย แต่อย่ายอมแพ้นะคะ หากคุณแม่กำลังมองหาเมนูอาหารที่มีผักต่างๆ ลองไปที่ “เมนูสำหรับลูกน้อย” ซึ่งมีเมนูอาหารรสชาติอร่อยทำได้ง่ายๆ ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสำหรับเด็ก
ในช่วงวัยต่างๆ ลูกน้อยอาจต้องการอาหารที่หลากหลาย DooDiDo ขอแนะนำให้คุณแม่มือใหม่ต้องพยายามทำให้เวลาบนโต๊ะอาหารเป็นเวลาที่มีความสุขของครอบครัว หลีกเลี่ยงการให้เด็กรับประทานอาหารสำเร็จรูป หรืออาหารประเภทจานด่วน เพื่อให้ลูกมีความคุ้นชินกับการกินอาหารเพื่อสุขภาพตั้งแต่ยังเล็กๆ คะ
ขอบคุณแหล่งที่มา: https://www.nestlemomandme.in.th/