ข้อควรรู้การทานยาแก้ปวดมากเกินไปเสี่ยง“ปวดศีรษะ” ได้

มาดูวิธีป้องกันอาการปวดศีรษะจากการใช้ยาแก้ปวดมากเกินไป
เมื่อเกิดอาการเจ็บไข้ไม่สบาย ยาชนิดแรกที่คิดถึงคือยาแก้ปวด ซึ่งกินเพื่อลดอาการที่เกิดขึ้น การกินยาประเภทนี้หากกินต่อเนื่องเป็นเวลานาน จะส่งผลต่อสุขภาพของเรา หากไม่สบายและพบปัญหาเหล่านี้แล้วต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อรักษาให้ตรงตามอาการที่เกิดขึ้น และท่านเชื่อหรือไม่ว่า ยาแก้ปวดที่เรากินกันอยู่เป็นประจำ และคิดว่าปลอดภัย ไม่น่ามีปัญหาอะไร จริงๆ แล้วหากกินมากเกินไป ก็มีผลข้างเคียงที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะได้ด้วยเช่นกันนพ.ประกิต อนุกูลวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ระบุว่า การกินยาแก้ปวดมากเกินไป อาจส่งผลให้เกิดอาการปวดศีรษะได้
ยาแก้ปวด (Painkiller) คือ กลุ่มยาที่มีคุณสมบัติในการลด ระงับ หรือบรรเทาอาการปวดตั้งแต่อาการปวดแบบไม่รุนแรงไปจนถึงอาการปวดแบบรุนแรง โดยสามารถบรรเทาอาการปวดได้หลายรูปแบบ เช่น ปวดศีรษะ ปวดฟัน ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ ปวดประจำเดือน เป็นต้น ทั้งนี้ยาแก้ปวดบางชนิดสามารถหาซื้อได้เองตามร้านขายยาทั่วไป และบางชนิดจำเป็นต้องใช้ตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น

โรคปวดศีรษะจากการใช้ยาแก้ปวดมากเกินไป
โรคปวดศีรษะจากการใช้ยาแก้ปวดมากเกินไป (Medical overuse headache) เกิดจากการที่ผู้ป่วยใช้ยาแก้ปวดบรรเทาอาการปวดศีรษะในปริมาณที่มากเกินไป เป็นผลให้ผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะรุนแรงมากขึ้นในระยะเวลาต่อมา และมีความถี่ของอาการปวดศีรษะแทบทุกวัน
ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดศีรษะต่อเนื่องนานเกิน 3 เดือน โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีประวัติการใช้ยาแก้ปวดในกลุ่มพาราเซตามอล หรือกลุ่มยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เกิน 15 วัน/เดือน หรือมีประวัติการใช้ยาแก้ปวดในกลุ่มเออร์โกตามีน ทรีปแทน หรือโอปีออยด์ เกิน 10 วัน/เดือน
อาการปวดศีรษะจากการใช้ยาแก้ปวดมากเกินไป
- อาการปวดศีรษะจะมีความถี่ขึ้น เมื่อใช้ยานานขึ้น
- ยาแก้ปวดที่ใช้มีประสิทธิภาพลดลง ที่เคยรับประทานแล้วหายปวดกลับไม่หายปวด
- อาการปวดศีรษะจะเกิดขึ้นภายหลังยาแก้ปวดหมดฤทธิ์
- ผู้ป่วยจะต้องใช้ขนาดยาแก้ปวดที่เพิ่มขึ้น
- ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดศีรษะขณะนอนหลับร่วมด้วย เนื่องจากขาดยาในช่วงเวลานอน และทำให้เกิด อาการปวดศีรษะ

วิธีป้องกันอาการปวดศีรษะจากการใช้ยาแก้ปวดมากเกินไป
- หยุดหรือลดปริมาณของยาแก้ปวดที่ใช้เกินขนาด
- ปรับรูปแบบการดำเนินชีวิต เช่น นอนหลับให้เพียงพอออกกำลังกายสม่ำเสมอ ลดภาวะเครียดหรือ ปัจจัยกระตุ้นที่ก่อให้เกิดอาการปวดศีรษะ
- ในผู้ป่วยที่มีโรคปวดศีรษะอยู่เดิม เช่น โรคปวดศีรษะไมเกรน ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อพิจารณา การใช้ยาและป้องกันอาการปวดศีรษะที่เหมาะสม
อย่างที่บอกนะคะ เมื่อเจ็บป่วยด้วยอาการใดๆ ก็ตาม การหายากินเองและกินยานั้นอย่างต่อเนื่อง ไม่มีผลดีต่อร่างกาย รวมถึงอาจก่อเกิดอาการอื่นๆ หนักมากขึ้น DooDiDo สรุปง่ายๆ ว่า เมื่อเจ็บไข้ไม่สบาย กินต่อเนื่องนานเกินไป ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรักษาโรคที่เกิดขึ้นดีกว่านะคะ
ขอบคุณแหล่งที่มาข้อมูล : www.sanook.com