ก้นจ้ำ ยาสมุนไพรแก้โรคตามัว แก้คออักเสบแก้หวัดคัดจมูก

ภาพจาก https://www.xn--42cg8cuanoj5b9czdzg.com/16963954/%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%88%E0%B9%89%E0%B8%B3
สมุนไพร แก้โรคตามัว แก้คออักเสบ แก้หวัดคัดจมูก ก้นจ้ำยา หรือใช้อาบแก้ไข้
ก้นจ้ำ จัดเป็นสมุนไพรที่เป็นพรรณไม้ล้มลุกอายุได้ปีเดียว ลำต้นตั้งตรง แตกกิ่ง มีความสูงได้ประมาณ 0.3-1.5 เมตร ลำต้นมีลักษณะเป็นเหลี่ยม ตามลำต้นและกิ่งก้านสาขามีขนขึ้นประปราย ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ต้องการน้ำและความชื้นในปริมาณปานกลาง เจริญเติบโตได้ดีในดินอุดมร่วนซุย เป็นพรรณไม้พื้นเมืองของทวีปอเมริกา
มีเขตการกระจายพันธุ์ในเขตอบอุ่นและเขตร้อนทั่วโลก ในประเทศไทยพบกระจายพันธุ์ทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมักขึ้นเป็นวัชพืชตามไร่และสวน ตามข้างถนน และที่แห้งแล้งทั่วไป
สมุนไพรก้นจ้ำ ท้องถิ่นมีชื่อเรียกว่า ชื่อเจินเฉ่า จิงผานอิ๋งจ่านเฉ่า (จีนกลาง), บ่ะดี่ (ลั้วะ), หญ้าก้นจ้ำ ส่วนนครราชสีมาเรียก “ก้นจ้ำ” มีชื่อสามัญ Spanish Needles และชื่อวิทยาศาสตร์ Bidens biternata (Lour.) Merr. & Scherff. จัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)

ใบก้นจ้ำ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงตรงข้าม มีใบย่อย 3-5 ใบ บางใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น ก้านใบประกอบยาวประมาณ 9-15 เซนติเมตร ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปไข่หรือรูปไข่กลับ ปลายใบแหลม โคนใบสอบคล้ายลิ่มหรือสอบเข้าหากัน ส่วนขอบใบหยักย่อยคล้ายฟันปลา ใบมีขนาดกว้างประมาณ 0.3-3.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.5-6.5 เซนติเมตร แผ่นใบทั้งสองด้านเกลี้ยงหรือมีขนขึ้นประปราย ก้านใบยาวได้ประมาณ 1.5 เซนติเมตร
ดอกก้นจ้ำ ออกดอกเป็นช่อแบบช่อกระจุกแน่น ช่อเดียว ช่อแยกแขนง หรือช่อเชิงหลั่น แต่ละช่อจะมีวงใบประดับ 8-10 อัน ลักษณะเป็นรูปแถบปลายแหลม ยาวประมาณ 3-7 มิลลิเมตร ดอกวงนอกเป็นรูปลิ้น ไม่สมบูรณ์เพศ มีประมาณ 1-5 ดอก หรือไม่มี กลีบดอกเป็นสีเหลืองหรือสีขาว ปลายกลีบจัก 2-3 จัก
ส่วนดอกวงในจะมีหลายดอก เป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศ กลีบดอกเป็นสีเหลือง โคนติดกันเป็นหลอด ปลายแยกออกเป็นจักแหลม 4-5 จัก มีขนาดกว้างประมาณ 3 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 6 มิลลิเมตร มีเกสรเพศผู้ 5 อัน มีรังไข่อยู่ใต้วงกลีบ ออกดอกในช่วงประมาณเดือนตุลาคม[4]
ผลก้นจ้ำ ผลมีลักษณะยาวแคบ สีน้ำตาลเข้ม มีความยาวประมาณ 0.5-2 เซนติเมตร ติดบนฐานดอกเป็นกระจุกหัวแหลม ท้ายแหลม มีสัน และมีร่องตามยาว ผลมีรยางค์แข็ง 2-4 อัน ติดอยู่ที่ปลาย ผิวนอกผลจะมีขนสั้นๆ เมื่อแก่แห้งจะไม่แตก เมล็ดมีขนาดเล็กออกเป็นเส้น ๆ มีสีดำ
สรรพคุณของก้นจ้ำ
- ใช้ใบสดนำมาตำให้ละเอียดแล้วคั้นเอาน้ำมาใช้ล้างตา เป็นยาแก้โรคตามัว (ใบ)[1],[3]
- ตำรายาแก้คออักเสบ เจ็บคอ จะใช้ใบก้นจ้ำสด ๆ ประมาณ 30-50 กรัม นำมาตำแล้วคั้นเอาน้ำผสมกับน้ำผึ้งและเกลือเล็กน้อย ใช้รับประทาน (ใบ)[3]
- ทั้งต้นใช้ผสมกับสมุนไพรอื่น นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้หวัดคัดจมูก หรือใช้อาบแก้ไข้ (ทั้งต้น)[2] บ้างใช้ก้นจ้ำแห้งประมาณ 10-15 กรัม เข้ากับตำรายาแก้หวัดทั่วไป ต้มรับประทานเป็นยาแก้หวัดตัวร้อน (ทั้งต้น)[3]
- ยาพื้นบ้านล้านนาจะใช้ทั้งต้นนำมาผสมต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไอมีน้ำมูกข้น (ทั้งต้น)[2]
- ใช้เป็นยาแก้ลำไส้อักเสบ ปวดท้องน้อย ด้วยการใช้ทั้งต้นประมาณ 30-50 กรัม นำมาต้มเอาน้ำรับประทาน (ทั้งต้น)[3]
- ใบสดใช้ตำพอกรักษาแผลสด แผลน้ำร้อนลวก หรือแผลไฟไหม้ (ใบ)[1],[3]
- ใบสดนำมาคั้นหรือต้ม แล้วนำน้ำมาล้างผิวหนัง จะช่วยแก้ผดผื่นคันได้ (ใบ)[3]
- หากถูกงูกัดหรือแมลงสัตว์กัดต่อย ให้ใช้ใบสดประมาณ 50-100 กรัม นำมาตำแล้วเอาน้ำล้างหรือใช้พอกบริเวณที่เป็นแผล (ใบ)[3]
- ขนาดและวิธีใช้ : การใช้ตาม [3] กรณีต้มกับน้ำรับประทาน ต้นสดให้ใช้ครั้งละ 50-100 กรัม ส่วนต้นแห้งให้ใช้ครั้งละ 10-30 กรัม กรณีใช้ภายนอกให้ใช้ได้ตามความต้องการ[3]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของก้นจ้ำ
สารที่พบ ได้แก่ Anthraquinone Glycoside, Phytosterin-B[3] สารที่สกัดจากน้ำต้มของก้นจ้ำหรือสกัดจากแอลกอฮอล์ พบว่า มีฤทธิ์ยับยั้งโรคที่ติดเชื้อในลำไส้ หรือนำต้นสดทั้งต้นมาคั้นเอาน้ำ พบว่าจะมีประสิทธิภาพในการยับยั้งเชื้อราหรือเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อ Btaphylococcus ของลำไส้ใหญ่ได้ แต่จะไม่มีผลต่อเชื้อ Gram ในลำไส้ใหญ่[3]
ประโยชน์ของก้นจ้ำ
- ชาวลั้วะจะใช้ยอดอ่อนนำมารับประทานกับน้ำพริก[5]
สมุนไพรไทย แพทย์แผนไทย สมุนไพรประจำบ้าน ที่คนไทยรู้จักกันดี สรรพคุณเป็นยา รักษาโรคได้ ควรมีติดไว้ประจำบ้าน พืชที่ใช้เป็นยารักษาโรค หรือ เสริมสุขภาพ ช่วยในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้เป็นอย่างดี การหาความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรกับชีวิตประจำวัน
สมุนไพรที่ได้จากส่วนของพืชโดยตรง (พืชวัตถุ) โดยส่วนต่างๆ ที่นำมานั้นมีสารที่สามารถใช้เป็นยาได้ ได้แก่ ใบ ดอก ผล เปลือกผล เมล็ด เปลือกเมล็ด รากหรือหัว ต้น แก่น กระพี้ เนื้อไม้ เปลือกไม้ สมุนไพรที่ได้จากอวัยวะของสัตว์ (สัตว์วัตถุ) ได้แก่ ตับ ดี นอ เขา เอ็น เลือด น้ำมัน มูล ฯลฯ เช่น ขี้ผึ้ง รังนก น้ำมันตับปลา สมุนไพรที่ได้จากแร่โดยธรรมชาติหรือสิ่งที่ประกอบขึ้นจากแร่ธาตุต่างๆ ตามกรรมวิธี (ธาตุวัตถุ) นำมาใช้เป็นยา ติดตามได้ที่ doodido
อ้างอิง
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ก้นจ้ำ”. หน้า 2-3.
- หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ก้นจ้ำ”. หน้า 46.
- หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “ก้นจ้ำ”. หน้า 18.
- ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “กรดน้ำ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/. [10 ก.ค. 2015].
- โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “ก้นจ้ำ, หญ้าก้นจ้ำ”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์), หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 6. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [10 ก.ค. 2015].
- https://medthai.com/