กระเจียวแดง สมุนไพรไทยแก้ปวดเมื่อย แก้มดลูกอักเสบหลังคลอด

ภาพจาก https://www.ต้นกล้าความรู้.com/1950
แก้มดลูกอักเสบสำหรับสตรีหลังคลอด กระเจียวแดง และยังเป็นสมุนไพรแก้ปวดเมื่อย
กระเจียวแดง สมุนไพรที่จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกมีเหง้าอยู่ใต้ดิน อยู่ได้นานหลายปี มีความสูงได้ประมาณ 40-60 เซนติเมตร อาจขึ้นเป็นต้นเดียวหรือหลายต้นรวมกันเป็นกอ มีความสูงได้ประมาณ 20-60 เซนติเมตร มีเหง้าใหญ่รูปรี อยู่ในแนวดิ่ง ผิวเป็นสีน้ำตาล ภายในเป็นสีขาว ขยายพันธุ์ด้วยเหง้า มีเขตการกระจายพันธุ์ในพม่าตอนเหนือ ในประเทศไทยพบได้ทุกภาค โดยมักขึ้นตามป่าดิบทั่วไป ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และที่โล่งทั่วไป
กระเจียวแดง สมุนไพรที่มีชื่อท้องถิ่นว่า ว่านมหาเมฆ (สกลนคร), อาวแดง (ภาคเหนือ), กาเตียว (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, เลย), กระเจียว กระเจียวแดง (ภาคกลาง), จวด (ภาคใต้, ชุมพร, สงขลา)[2], กระเจียวสี, กระเจียวป่า
ชื่อวิทยาศาสตร์ Curcuma sessilis Gage. จัดอยู่ในวงศ์ขิง (ZINGIBERACEAE) เช่นเดียวกับกระเจียวขาว

ใบกระเจียวแดง ใบมีลักษะเป็นกาบห่อรวมตัวกันแน่นเป็นลำต้นเทียม โดยจะเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนานหรือรูปใบหอกแคบ ปลายใบแหลม โคนใบแหลม ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 15-20 เซนติเมตร และยาวประมาณ 30-40 เซนติเมตร ผิวใบเกลี้ยงหรือมีขนสั้นนุ่ม เส้นใบขนาน[1],[2]
ดอกกระเจียวแดง ออกดอกเป็นช่อแน่นแบบช่อเชิงลด รูปทรงกระบอก ยาวได้ประมาณ 10-20 เซนติเมตร ก้านช่อดอกชูออกจากปลายลำต้นเทียม ช่อดอกย่อยแต่ละช่อจะมีดอกประมาณ 2-7 ดอก ใบประดับที่โคนช่อดอกรองรับดอกสีเขียว ดอกเป็นสีเหลือง หลอดกลีบเลี้ยงยาวประมาณ 1 เซนติเมตร หลอดกลีบดอกยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร มีขน แฉกบนเป็นรูปรี ส่วนแฉกด้านข้างแคบกว่าเล็กน้อย
กลีบปากเป็นรูปไข่กลับ สีเหลือง ปลายแยกออกเป็นพู 2 พู เกสรเพศผู้ที่เป็นหมันเป็นรูปไข่กลับหรือรูปรี สีเหลือง มีขนสั้น ดอกมีเกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์ มีจุดสีแดงจำนวนมาก โคนอับเรณูเรียวแหลมเป็นเดือย 2 อัน โค้งเข้าหากัน เกสรเพศเมีย มีรังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มีขนสั้นขึ้นหนาแน่น ออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนกรกฎาคม[1]
ผลกระเจียวแดง ลักษณะของผลเป็นรูปไข่ ผิวมีขนหนาแน่น ส่วนเมล็ดมีรูปร่างคล้ายหยดน้ำ มีความยาวประมาณ 0.5 เซนติเมตร[1]
สรรพคุณของกระเจียวแดง
- กระเจียวมีเส้นใยอาหาร (Fiber) ที่เป็นตัวช่วยกระตุ้นให้ลำไส้บีบตัวขับถ่ายของเสียออกมา จึงช่วยป้องกันอาการท้องผูกได้ดี อีกทั้งเส้นใยอาหารยังสามารถจับคอเลสเตอรอลไว้เมื่อขับถ่ายออกมาถึงทำให้ลดระดับคอเลสเตอรอลในเส้นเลือดได้ และเมื่อเส้นใยสัมผัสสารพิษและสารที่ก่อให้เกิดมะเร็งที่มีอยู่ในอาหาร ร่างกายจึงได้รับสารพิษและสารก่อมะเร็งน้อยลงไปด้วย[3]
- ดอกอ่อนมีรสเผ็ดร้อน กลิ่นหอม ใช้เป็นยาขับลมในกระเพาะอาหาร ช่วยบรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และลดกรดในกระเพาะอาหาร จึงช่วยทำให้รู้สึกสบายท้องและช่วยให้สุขภาพดี (ดอกอ่อน)[1],[4]
- ดอกมีสรรพคุณช่วยแก้มดลูกอักเสบสำหรับสตรีหลังคลอด (ดอก)[4]
- หน่ออ่อนใช้เป็นยาสมานแผล (หน่ออ่อน)[1]
- เหง้าใช้เป็นยาแก้ปวดเมื่อย (เหง้า)[1]
ประโยชน์ของกระเจียวแดง
หน่ออ่อนใช้รับประทานร่วมกับน้ำพริก ลาบ ก้อย ส้มตำ ส่วนช่อดอกอ่อนนำมาลวกให้สุก ใช้รับประทานกับน้ำพริกหรือปรุงเป็นแกง โดยหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ แกงรวมกับผักหวานปลาย่างและเครื่องแกง หรือจะกินดอกสดก็ได้ บางบ้านนิยมนำมาทำแกงส้มหรือไม่ก็นำมาแกล้มกับขนมจีน ลาบ ก้อย[1],[2],[4]
สมุนไพรไทย แพทย์แผนไทย สมุนไพรประจำบ้าน ที่คนไทยรู้จักกันดี สรรพคุณเป็นยา รักษาโรคได้ ควรมีติดไว้ประจำบ้าน พืชที่ใช้เป็นยารักษาโรค หรือ เสริมสุขภาพ ช่วยในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้เป็นอย่างดี การหาความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรกับชีวิตประจำวัน
สมุนไพรที่ได้จากส่วนของพืชโดยตรง (พืชวัตถุ) โดยส่วนต่าง ๆ ที่นำมานั้นมีสารที่สามารถใช้เป็นยาได้ ได้แก่ ใบ ดอก ผล เปลือกผล เมล็ด เปลือกเมล็ด รากหรือหัว ต้น แก่น กระพี้ เนื้อไม้ เปลือกไม้ สมุนไพรที่ได้จากอวัยวะของสัตว์ (สัตว์วัตถุ) ได้แก่ ตับ ดี นอ เขา เอ็น เลือด น้ำมัน มูล ฯลฯ เช่น ขี้ผึ้ง รังนก น้ำมันตับปลา สมุนไพรที่ได้จากแร่โดยธรรมชาติหรือสิ่งที่ประกอบขึ้นจากแร่ธาตุต่าง ๆ ตามกรรมวิธี (ธาตุวัตถุ) นำมาใช้เป็นยา ติดตามได้ที่ doodido
อ้างอิง
- ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “กระเจียวแดง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com.
- ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “อาวแดง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/.
- ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ. “กระเจียว…”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : royal.rid.go.th/phuphan/.
- มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดแพร่, โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “กระเจียว”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phrae.mju.ac.th/cms/rspg/.
- https://medthai.com/